top of page
ค้นหา
  • Readclassic

ซิมโฟนีแห่งจักรวาล ของ Fazıl Say



ผู้เขียน : ปฏิทัศน์ จันทนากร


Fazıl Say (ฟาซิล เซ) นักเปียโนและนักประพันธ์ชาวตุรกี เกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 1970 เมือง Ankara (อังการา) ด้วยทักษะที่ยอดเยี่ยมของเขา ฟาซิลนั้นเป็นที่ชื่นชอบทั้งผู้ฟังและนักวิจารณ์มากมายเป็นเวลากว่า 25 ปี ในแง่ของการเติมเต็มการมีอยู่และการให้ค่าแก่โลกดนตรีคลาสสิก งานแสดงต่าง ๆ ของศิลปินท่านนี้เป็นอะไรที่ควรพูดถึงยิ่งนัก ทั้งความธรรมดาที่แปลกใหม่, สิ่งที่เปิดกว้างออกไปจากเดิม, ความน่าตื่นเต้นที่เปี่ยมล้น โดยสรุปคือ ชิ้นงานของเขาจะส่งไปถึงใจคุณอย่างแน่นอน


Fazıl Say(ฟาซิล เซ)
Fazıl Say(ฟาซิล เซ)

งานของเขาในช่วงแรกส่วนใหญ่เป็นบทเพลงออร์เคสตราอเมริกันและยุโรป ซึ่งเขาทำหน้าที่เป็นวาทยากร โดยนำบทเพลงที่มีชื่อเสียงมากมายของนักประพันธ์ที่โดดเด่นไม่ว่าจะเป็นบาค ไฮเดิน และบีโธเฟนมาบรรเลง รวมไปถึงบทเพลงในยุคโรแมนติกและร่วมสมัย นอกเหนือจากนั้นยังมีบทเพลงเปียโนที่เขาได้ประพันธ์ขึ้นมาเพิ่มเติมอีกด้วย


ในด้านของการแสดงเขาเป็นนักดนตรีแชมเบอร์ที่ออกทัวร์มามากมายหลายประเทศ ซึ่งเป็นประสบการณ์ร่วมงานกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียง ในด้านของนักประพันธ์เพลง เขาประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม มีบทเพลงและงานแสดงมากมายที่น่าหลงใหล รวมถึงผลงานเพลงที่อัดไว้ก็ได้รับรางวัลอย่างน่าพอใจ



Symphony No. 3 “Universe Symphony” หรือ ซิมโฟนีแห่งจักรวาล เป็นผลงานออร์เคสตราลำดับที่สาม ซึ่งอยู่ในหมวด Program Symphony (ซิมโฟนีพรรณนา) ประกอบด้วยทั้งหมด 6 ท่อน จัดแสดงครั้งแรก ณ Salzburg Festival (เทศกาลซาลซ์บูร์ก) ในวันที่ 7 ตุลาคม 2012 ตัวเพลงนั้นอ้างอิงจากการวิจัยซึ่งเกี่ยวกับดาราศาสตร์ในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างมีหลักการ มีการพูดถึง The Big Bang หรือ การกำเนิดจักรวาล รวมไปถึงดาวต่าง ๆ และดาวที่มีชื่อว่า “Gliese 581 g” ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับโลก และการพูดถึง “God Particle” หรือ อนุภาค Higgs Bosons ที่เกี่ยวเนื่องกับการมีอยู่ของพระเจ้า โดยฟาซิลได้บอกเล่าและพรรณนาตรรกะแห่งวิทยาศาสตร์เหล่านี้ไว้ในเสียงเพลงของเขาในแต่ละท่อนได้อย่างละเอียด รวมถึงบทบาทของเครื่องดนตรีที่แปลกใหม่สารพัดสิ่งซึ่งปรากฏเสียงเลียนแบบอยู่ในบทเพลงได้อย่างน่าสนใจยิ่ง



ท่อนที่ 1 Expansion of the Universe


เมื่อพูดถึงการกำเนิดของจักรวาลที่กว้างใหญ่ไพศาล ก็คงต้องพูดถึงขนาดของการแผ่ขยายอาณาเขตที่กว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ในเชิงทฤษฎีนี้ฟาซิลได้นำมาปรับใช้กับสเกลและรูปแบบการกำหนดจังหวะให้มีค่าเพิ่มขึ้นไปอย่างต่อเนื่องจนจบท่อน รวมทั้งการอ้างอิงเสียงเชิงสัญลักษณ์ที่ประกอบด้วย Major tonality (ธรรมชาติ), Minor tonality (มวลมนุษย์) และ Atonality (ความโกลาหล)


โดยเรื่องราวถูกดำเนินด้วยการเลียนเสียงของเครื่องดนตรีต่าง ๆ เริ่มต้นจาก การกำเนิดจักรวาล (The Big Bang) ซึ่งเป็นเสียงของ Timpani ที่ดังขึ้น ตามด้วย Hapi/Ufo Drum ที่เล่นคลอเคลียเป็นพื้นหลังตลอดทั้งท่อน และมี Theremin ที่มอบความรู้สึกลี้ลับของจักรวาล ไปจนถึงเครื่องดนตรีต่าง ๆ ในวงที่ทำการเลียนเสียงการกำเนิดดวงดาวมากมายและมีหน้าที่ซัพพอร์ตเครื่องดนตรีที่กล่าวมา นอกเหนือจากนั้นยังมี Vibratones และ Waterphone ที่เพิ่มสีสันของความลี้ลับด้วยความฉงนอีกด้วย ซึ่งสำหรับผู้เขียนเมื่อฟังแล้วรู้สึกถึงความสวยงามแต่เต็มไปด้วยความลี้ลับในเวลาเดียวกัน



ท่อนที่ 2 Venus


ดาวศุกร์เป็นดาวที่มีความคล้ายโลกมากที่สุดเพียงแต่มนุษย์นั้นไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ จากการอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์เคยสันนิษฐานว่าโลกและดาวศุกร์เคยพุ่งชนกันมาก่อน ซึ่งฟาซิลได้นำข้อสันนิษฐานนี้มาดัดแปลงเป็นเรื่องราวใหม่ว่า “ดาวศุกร์นั้นมีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่และกำลังพบกับจุดจบจากการพุ่งชนของดาวตก บทเพลงท่อนนี้เป็นการพรรณนาถึงวาระสุดท้ายของชีวิตพวกเขา” โดยมีการเล่น Chimes เป็นจังหวะพื้นหลังตลอดเกือบทั้งเพลง ส่วน Theremin, BassFlute และ English horn เป็นตัวแทนของชนชาวดาวศุกร์


ในขณะที่ Waterphone เปรียบได้กับเสียงร้องที่หวาดกลัวของผู้คน ซึ่งมีเสียงดังของ Trumpet เปรียบเสมือนดาวตก ที่สำคัญคือทำนองในท่อนที่ 1 ปรากฏอยู่ในท่อนนี้ด้วย Theremin และ Hapi/Ufo Drum ในช่วงสุดท้ายอย่างชัดเจน ราวกับว่าหลังภัยพิบัตินี้ทุกอย่างได้ชำระล้างสิ่งมีชีวิตและย้อนหวนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง



ท่อนที่ 3 Storm in Jupiter


ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงโคจรของเราและมีพายุขนาดยักษ์ที่ทรงพลังถึงขั้นสามารถทำให้ภูเขาไฟระเบิดได้บนดาวดวงนั้น ซึ่งในท่อนนี้มีการเลียนเสียงพายุและคลื่นความถี่ของนาซ่า โดยมีการสร้างเสียงด้วยเทคนิค Tremolo กับเครื่องดนตรีจำพวกเคาะตีและสร้างภาพลักษณ์ของลมพายุด้วยเปียโน, เครื่องลมไม้ และเครื่องเป่าทองเหลือง เพื่อการเลียนเสียงให้สมจริงเรื่องของไดนามิกมีความชัดเจนมากพอสมควรในท่อนนี้ ทั้งในด้านความดังที่สื่อถึงพลังอันรุนแรงของพายุ และในตอนจบเมื่อความสงบมาเยือนด้วยความเบาแล้วจึงเงียบหายไป


ส่วนตัวผู้เขียนเมื่อฟังท่อนที่เครื่องเป่าทองเหลืองกระแทกเสียงออกมานั้นให้ความรู้สึกเหมือนได้ยินลูกเล่นทำนองที่มีความคล้ายกับเพลงประกอบจากเรื่อง Star Wars



ท่อนที่ 4 Earth-like Planet Gliese 581 g


ดวงดาวที่ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ ว่ากันว่าเหมือนกับดาวโลกและข้อสงสัยที่ทุกคนตั้งคำถามว่า “ในจักรวาลนี้ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นอีกหรือไม่” อารยธรรมต่างดาวเป็นสิ่งที่ฟาซิลต้องการจะบอกเล่าไว้ในบทเพลงท่อนนี้ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีแปลกใหม่มากมายไม่ว่าจะเป็น Theremin, Waterphone, Sansula, Log drum, Hapi drum, Ufo drum, Vibratones ที่สาธยาย Ambient ได้อย่างลึกลับ และ Daxaphone ที่เลียนเสียงได้เหมือนกับเอเลี่ยนกำลังคุยกัน ราวกับว่ากำลังดูหนัง Sci-Fi ที่มีเอเลี่ยนและดนตรีประกอบที่คุ้นหู นอกเหนือจากการเลียนสิ่งต่าง ๆ ในท่อนนี้ Theremin ในโน้ตสูงมีความคล้ายกับเสียงนักร้อง Soprano ในความเห็นของผู้เขียนอีกด้วย



ท่อนที่ 5 Supernova


มหานวดารา หรือ การระเบิดของดาวฤกษ์ที่มีพลังมหาศาล ฟาซิลบอกเล่าถึงช่วงขณะที่ดาวฤกษ์ดวงนี้กำลังจะระเบิดในบทเพลงของเขา ซึ่งใช้ Rhythmic Motifs ในการนำเสนอ ตัวดนตรีนั้นมีความดุดันมากกว่าท่อนที่ 3 เมื่อเทียบในเรื่องของจินตนาการระหว่าง ลมพายุ กับ ดาวฤกษ์ระเบิด ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญให้ในท่อนนี้เครื่องดนตรีจำพวกเครื่องเป่าทองเหลืองและเครื่องเคาะตีมีบทบาทเป็นอย่างมาก แสดงถึงความโอ่งอ่างใหญ่โต โดยมี Motifs ของจังหวะที่เล่นกับ Resonance อยู่ตลอดทั้งเพลง



ท่อนที่ 6 Dark Matter


เรื่องลี้ลับหรือเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ พระเจ้ามีจริงหรือไม่จริง เช่นเดียวกับการกำเนิดจักรวาลที่เราทั้งนักวิทยาศาสตร์และคนธรรมดาก็ไม่อาจล่วงรู้ ในท่อนนี้ฟาซิลนำแนวคิดเรื่องของความเชื่อและการมีอยู่ในหลาย ๆ สิ่งมาไว้ในเพลง ซึ่งมีการใช้ Major tonality (ธรรมชาติ), Minor tonality (มวลมนุษย์) และ Atonality (ความโกลาหล) เหมือนในท่อนแรก เพียงแต่บอกเล่าเรื่องราวในอีกมุมมองว่า การกำเนิดจักรวาล (The Big Bang) อาจจะนำมาซึ่งความว่างเปล่า โดยมี Ambient ประกอบและใช้เทคนิคเชื่อมต่อทำนองด้วยจำนวนโน้ตเป็นกลุ่มตั้งแต่จำนวน 1 ตัวไปจนถึงจำนวน 7 ตัว โดยมีไดนามิกที่ดังขึ้น แล้วจึงย้อนกลับไปที่ 1 อีกครั้ง ในช่วงสุดท้ายของบทเพลงฟาซิลเลือกที่จะใช้โน้ตจบที่ตัว D และมี Hapi/Ufo Drum เล่นทำนองเดิม เพื่อเสนอให้เห็นว่าจักรวาลได้กลับไปสู่ความว่างเปล่าอย่างแท้จริง



โดยรวมแล้วทุกท่อนมีความเชื่อมโยงกันทั้งในแง่ของทำนอง จังหวะ เทคนิค และแนวคิดอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้ตัวเพลงมีมิติและยังคงไว้ซึ่ง Theme ที่ผู้ประพันธ์ตั้งใจไว้ ทั้งนี้การวิเคราะห์หรือได้ฟังบทเพลงในมุมมองของผู้เขียนอาจจะแตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับสุนทรียภาพและความรู้ในแต่ละผู้คน



bottom of page