top of page
ค้นหา
  • Readclassic

The Rite of Spring กับความสำเร็จในอนาคต



ผู้เขียน : ภัทรา


อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ดนตรี เกิดขึ้นจากภาพสมาชิกนักเต้นรำชายหญิงที่สวมชุดพื้นเมืองกำลังเต้นรำประกอบพิธีกรรมการบูชายัญด้วยท่าทางก้าวร้าวผิดจากขนบบัลเล่ต์เดิม พร้อมประกอบกับเสียงจากวงออเคสตราที่บรรเลงอย่างขัดหูผู้ฟังชาวเมืองปารีสประเทศฝรั่งเศส ในรอบแสดงปฐมทัศน์เมื่อปี 1913 ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งอันเป็นต้นเหตุของการเกิดจลาจลในการแสดงครั้งแรกของมัน The Rite of Spring ผลงานของ อีกอร์ สตราวินสกี (Igor Stravinsky, 1882-1971) คีตกวีหัวก้าวหน้าคนสำคัญสัญชาติรัสเซีย



ภายในงานผู้คนเริ่มโห่ไล่นักแสดง และนักดนตรี อย่างหนัก เกิดการถกเถียงระหว่างผู้ฟังสองฝ่าย นำไปสู่การทำลายสถานที่จัดงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ความรุนแรงบานปลาย แต่ในวันนี้ The Rite of Spring กลับกลายเป็นหนึ่งในชิ้นงานบัลเลต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของศตวรรษที่ 20


Igor Stravinsky
Igor Stravinsky

The Rite of Spring ไม่ได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรกที่ถูกนำแสดง มันถูกวิจารณ์อย่างหนักและถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏแห่งเสียงดนตรีและวงการบัลเล่ต์ ทั้งนี้ผู้เขียนมีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์เชิงสารคดี Riot at the Rite (2005) โดยมีหลายฉากที่น่าสนใจและดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในเวลานั้น ตั้งแต่ฉากที่สตราวินสกีเสนองานให้กับ เซอร์เก เดียกิเลฟ (Sergei Diaghilev, 1872-1929) เจ้าของคณะ Ballets Russes และเป็นผู้จัดการโรงละคร ซึ่งเป็นผู้รวบรวมดนตรีแห่งกระแสยุคสมัยใหม่ เขาถึงกับออกปากว่า มันอึกกะทึกเกินไป


ภาพยนตร์เชิงสารคดี Riot at the Rite


สตราวินสกี ตอบกลับ “ผมฝัน ผมเห็นเนื้อเรื่องของหญิงสาวที่สละตนเพื่อบูชาพระเจ้า นี่แหละคือบริบทของบัลเล่ต์นี้ ผมเห็นภาพแบบนั้น และได้ยินเสียงแบบนี้ ผมเขียนสิ่งที่ผมได้ยิน” ซึ่งเป็นประโยคที่ผู้เขียนประทับใจส่วนตัวมาก


ในด้านของการเต้นรำ มันถูกออกแบบท่าเต้นโดย วาสลาฟ นิจินสกี (Vaslav Nijinsky, 1890-1950) นักเต้นฝีมือดี ถูกวิจารณ์อย่างหนักหนาเช่นกันในภาพยนตร์ อย่างเช่น “ท่าเต้นเหมือนกับคนปวดฟัน” “มันน่าเกลียด” “คุณกำลังดูถูกบัลเล่ต์” รวมถึงการต่อต้านของนักเต้นในช่วงแรก ที่ออกอาการว่ามันไม่สมควรเป็นท่าเต้น และยากเกินไป กระนั้นมันสื่อออกมาตรงตามภาพที่มันควรจะเป็นตามเนื้อเรื่อง ฉาก และเสียงดนตรี

ท่าเต้นของ The Rite of Spring
ท่าเต้นของ The Rite of Spring

ในส่วนของดนตรีอย่างที่กล่าวไว้ว่ามีความอึกกะทึก ก้าวร้าว รุนแรง และมีเสียงที่แปลกหูผู้ฟัง แต่ภายใต้สิ่งเหล่านั้นความงามมีอยู่หลายมิติ เริ่มตั้งแต่สิ่งที่สังเกตได้ง่ายที่สุด มันกลายเป็นเอกลักษณ์ของ อีกอร์ สตราวินสกี คือจังหวะที่ซับซ้อน มันคาดเดาแทบไม่ได้ในตอนที่ฟังครั้งแรก ด้วยลักษณะแบบต่าง ๆ ทั้งอัตราจังหวะแบบไร้สัดส่วน (Asymmetrical meter), อัตราจังหวะไม่คงที่ (Irregular meter) อัตราจังหวะแบบหลากอัตรา (Polymeter) รวมไปถึง การเปลี่ยนอัตราจังหวะบ่อยครั้ง เป็นต้น เรื่องของเสียงประสานก็เป็นสิ่งที่ทำออกมาได้แตกต่างจากกระแสในยุคเช่นกัน ทั้งการใช้คอร์ดโพลิ (Polychord), คอร์ดเพิ่มโน้ต (Added note chord), และคอร์ดแยก (Split chord) เป็นต้น ทำให้บทประพันธ์ชิ้นนี้มีความแข็งแรงก้าวร้าวและดุดันอย่างมาก


ตัวอย่างโน้ตเพลง The Rite of Spring
ตัวอย่างโน้ตเพลง The Rite of Spring

บทประพันธ์ The Rite of Spring เป็นการก้าวข้ามขนบธรรมเนียมเดิมในทุก ๆ ด้าน ทั้งดนตรีและวง การบัลเล่ ทุกสิ่งดูเป็นสิ่งใหม่ในยุคนั้น ไม่แปลกที่จะเกิดเหตุจลาจลในวันแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ปารีส และเขาถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏแห่งโลกดนตรี ไม่เพียงแค่เขาแต่รวมถึงนักประพันธ์คนสำคัญแห่งยุคก่อน ๆ อย่างลุควิค ฟาน เบธอเฟน (Ludwig van Beethoven, 1770-1827) หรือนักประพันธ์ร่วมยุคกับเขาอย่างอาร์โนลด์ เชินแบร์ก (Arnold Schoenberg, 1874-1951) ตลอดจนนักประพันธ์เพลงท่านอื่น ๆ ที่นำพาดนตรีไปอีกขั้นในแนวทางของตน หากพวกเขาไม่คิดต่าง ไม่กล้านำเสนอความคิด และไม่กล้าแสดงออก โลกดนตรีคงไม่มีวิวัฒนาการจนถึงจุดนี้ได้ ปัจจุบันเสียงของอนาคตอาจไม่ถูกพบ และยังรอคอยผู้นำคนต่อไปเพื่อนำเสียงนั้นมอบให้โลกปัจจุบันและผันเป็นจุดเปลี่ยนผ่านไปยังศตวรรษใหม่

bottom of page