top of page
ค้นหา
  • Readclassic

Piano Phase (ปี 1967) Steve Reich ความเรียบง่ายนั้นได้แอบแฝงความลึกซึ้ง


Piano Phase (1967) Steve Reich

Piano Phase หนึ่งในงานประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงของ Steve Reich โดยบทประพันธ์นี้ถือเป็นรูปแบบกระแสมินิมัล (Minimalist) ทั้งนี้คำว่า "Minimalist" คงเป็นอะไรที่คุ้นหูของกลุ่มคนปัจจุบันอยู่พอสมควร เนื่องจากได้รับความนิยมจากงานศิลปะประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และงานออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

ศิลปะ Minimalist ในงานประเภทอื่น ๆ

Minimalist ในทางดนตรีนั้น เมื่อเทียบกับศิลปะประเภทอื่น ๆ อาจต้องยอมรับว่าไม่เป็นที่แพร่หลายของคนทั่วไปมากนักในเมืองไทย ซึ่งเอกลักษณ์สำคัญของดนตรีมินิมัล คือ การใช้วัตถุดิบในการแต่งเพลงให้น้อย ๆ ผิวเผินอาจแลดูเรียบง่ายแต่ได้แอบซ่อนความลึกซึ้งไว้ โดยบทประพันธ์เพลง Piano Phase ก็เป็นตัวอย่างชั้นดี

Piano Phase (1967) Steve Reich

ความลึกซึ้งของบทเพลง ได้เริ่มขึ้นจากแนวคิดผู้ประพันธ์ที่ต้องการให้เปียโนทั้ง 2 เครื่อง เล่นโน้ตชุดเดียวกัน ในรูปแบบจังหวะที่เรียบง่าย (*สามารถดูโน้ตเพลงนี้ได้จากลิงค์ Youtube ที่แปะไว้ข้างบน) หากสังเกตที่โน้ตจะพบว่า บทประพันธ์เพลง Piano Phase เริ่มเล่นจากเปียโนตัวที่ 1 เพียงแค่ตัวเดียวก่อน โดยการเล่นวนซ้ำโน้ตในห้องแรกไปมาอยู่ 6 - 8 รอบ หลังจากนั้นเปียโนตัวที่ 2 จะเริ่มเล่นพร้อมกับเปียโนตัวที่ 1 โดยจะเริ่มเล่นในห้องที่ 2 อย่างพร้อมเพรียง ซึ่งเปียโนทั้ง 2 เครื่องต้องเล่นวนซ้ำไปมาในห้องนี้ 12 - 18 รอบ ในการเล่นวนซ้ำไปมาของเปียโนทั้งคู่ในห้องที่ 2 นั้น ในช่วงเวลาหนึ่งเปียโนตัวที่ 2 จะค่อย ๆ เพิ่มความเร็วขึ้นทีละนิด จนเกิดเป็นความเหลื่อมของจังหวะ ทั้งนี้เปียโนตัวที่ 1 ความเร็วในการเล่นยังคงไว้เท่าเดิม การเพิ่มความเร็วในการเล่นของเปียโนตัวที่ 2 จะค่อยเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จนผลสุดท้ายความเร็วที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เปียโนตัวที่ 2 กลับมาเล่นพร้อมเปียโนตัวที่ 1 อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการจบเพลง


การกระทำดังกล่าวส่งผลทำให้รู้สึกว่าบทเพลงเกิดความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งที่ความจริงเปียโนทั้งคู่ยังบรรเลงโน้ตซ้ำในห้องเดิม ซึ่งวีธีการประพันธ์แบบนี้นี้ถูกเรียกว่า เฟสชิฟติงโพรเซส (Phase Shifting Process) สุดท้ายนี้จะเห็นได้ว่ารูปแบบวิธีการประพันธ์และวัตถุดิบในการประพันธ์เพลง Piano Phase แทบเรียกได้ว่าไม่มีอะไรซับซ้อนและค่อนไปทางเรียบง่ายอีกด้วย แต่ในความเรียบง่ายนั้นได้แอบแฝงความลึกซึ้งที่เกินพรรณนาไว้อีกด้วย



อ้างอิงข้อมูล

  • หนังสือ ดนตรีศตวรรษที่ 20

  • หนังสือ เสียงของศตวรรษ

bottom of page